Main Idea
สำหรับหลายๆ คนที่คุ้นหูกับคำว่า Dropship แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ขออธิบายง่ายๆ สั้นๆ ว่า Dropship คือ การนำสินค้าแบรนด์อื่นมาขาย วิธีนี้มีข้อดีมากๆ นั่นคือ ไม่ต้องเสียเงินสต็อคสินค้า ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายเรื่องแพ็กของและจัดส่ง แม้ว่าฟังดูแล้ว Dropship จะเป็นวิธีการสร้างรายได้ให้กับใครหลายๆ คนได้ค่อนข้างสะดวก แต่ที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ลองผิดลองถูกมามาก ทำกำไรได้ไปหลายคน เจ็บจนจุกกันไปอีกหลายคน ซึ่งวันนี้เราจะมาเฉลยเคล็ดลับที่น่าสนใจให้กับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จาก Dropship กัน เริ่มจาก
1. เรียนรู้ก่อนลงตลาด
ก่อนตัดสินใจทำ Dropship สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียนรู้การแข่งขันของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น วางขายที่ไหน เว็บไหนบ้าง โซเชียลมีเดียประเภทใดบ้าง ราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คอมเมนต์หรือรีวิวจากผู้ซื้อ โอกาสในการขายสูงพอและคุ้มค่าเหนื่อยเราหรือเปล่า ถ้าขั้นตอนเริ่มต้นเราทำได้ดี ก็มีชัยเกินครึ่งแล้วละ เพราะหากไปเลือกสินค้าที่ขายไม่ดี ต่อให้เราไปทำตลาดต่อยังไงก็ขายได้ยาก เช่น ราคาแพงแต่คุณภาพด้อยกว่าแบรนด์อื่นในตลาด ไม่รับผิดชอบสินค้า ส่งช้า ฯลฯ เป็นต้น
2. ศึกษาคู่แข่งในระยะยาว
จริงๆ แล้วทุกๆ ธุรกิจควรเข้าใจและทำการศึกษาคู่แข่ง ซึ่งการทำ Dropship เองก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาคู่แข่งไม่แพ้กันเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่ง แตกต่างจากอีกผลิตภัณฑ์เป็นเพราะ “การตลาด” ดังนั้น ถ้าเราขายผลิตภัณฑ์ A แล้วมีคู่แข่งมาขายผลิตภัณฑ์ A เหมือนกับเรา เราก็จำเป็นต้องศึกษาวิธีขายและแนวทางการตลาดของเขาเพื่อก้าวให้เหนือกว่า ไม่งั้นคงอยู่รอดได้ยาก
3. ผลิตไหวแน่นะ ?
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ แบรนด์ที่เราจะทำธุรกิจ Dropship มีการบริหารจัดการที่ดี หรือมีสต็อคสินค้าเพียงพอหรือไม่ เพราะในกรณีที่มี Dropship หลายๆ คน เขาสามารถผลิตได้ทันตามความต้องการที่จะขายหรือเปล่า ประเด็นนี้ลองมองในแง่ Worst Case กัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรายิงโฆษณาผ่าน Facebook ลงทุนจากหลักร้อย ซึ่งช่วงแรกก็ขายดี ส่งของทัน จึงขยับค่าโฆษณาเป็นวันละ 1,000 บาท สุดท้าย แบรนด์ที่เราร่วมธุรกิจด้วยบอกว่าผลิตสินค้าไม่ทัน เพราะต้องส่งสินค้าให้ Dropship รายอื่นด้วย หรือ ขาดสภาพคล่องเพราะพิษเศรษฐกิจ หรือเหตุผลอีกนับร้อยประการ จนอาจทำให้เราขาดทุน เสียโอกาสขาย และเสียลูกค้าไปในที่สุด
ในส่วนของเรื่องนี้ แนะนำให้คุยและประเมินสถานการณ์ให้ดีที่สุดก่อน โดยทำความรู้จักกับแบรนด์ที่เราจะร่วม Dropship ด้วย อาจสอบถามถึงความเต็มใจและความสามารถในการสนับสนุนการเติบโตของเราในอนาคต
4. แอบทดสอบแบรนด์นั้นๆ ก่อน
ถ้าท้ายที่สุดเราตัดสินใจจะทำ Dropship กับแบรนด์นึงจริงๆ อย่าลืมลองสั่งสินค้า (ที่ราคาถูกที่สุดก็ได้) เพื่อตรวจสอบแนวทาง ความถูกต้อง คุณภาพสินค้า และระยะเวลาจัดส่ง จากนั้นจดบันทึกข้อคิดเห็น หรือสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาเอาไว้ เพื่อใช้เป็น List ให้เราช่วยติดตามกระบวนการต่างๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคต เช่น ถ้าแบรนด์นั้นๆ ดำเนินการแพ็กหรือจัดส่งช้า ในช่วงแรก เราจำเป็นต้องช่วยลูกค้าสอบถามและติดตามกระบวนการขนส่งจนกว่าจะได้รับเลขพัสดุ เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าเราใส่ใจในการให้บริการ ไม่ใช่หวังแค่เงินส่วนต่างที่เรียกว่า “กำไร” เพียงอย่างเดียว
5. อย่าเพิ่งรีบออกตัวแรง
เมื่อเริ่ม Dropship จริงๆ แล้ว ก็อย่าเพิ่งรีบลงทุนด้านการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ (ที่ต้องเสียเงิน) อะไรมากนัก ทดสอบดูก่อนว่าผลิตภัณฑ์ขายได้ คุณภาพดีจริงตามที่ลูกค้ารีวิว โอกาสขายสูงไหม โอกาสซื้อซ้ำมากแค่ไหน หลังจากมั่นใจแล้วค่อยลงทุนก็ยังไม่สาย
เช่นเดียวกับ “ระบบตัวแทนจำหน่าย” ที่ต้องสต็อคสินค้า มักโดนผู้ผลิตหลอกล่อด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เช่น ซื้อครบ 30 ลังแจกทอง หรือ ซื้อเกิน 50 ลังจะได้เรทที่ถูกมากๆ ก็นำเอาประโยค “อย่าเพิ่งรีบออกตัวแรง” ไปใช้ได้เช่นกัน เพราะถ้าเราสต็อคไว้แล้วขายไม่ได้ หรือคุณภาพไม่ดีเท่าที่คิด จะเจ็บตัวเจ็บใจกันไปยาวๆ
เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเริ่มต้น และยืนอยู่กับธุรกิจ Drop Shipping และการเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ในระยะยาว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup