บริบทของภาคการศึกษากำลังพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ระบบการศึกษารูปแบบใหม่ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่ในห้องสอบ ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ผลวิจัยจาก McKinsey Digital เปิดเผยว่า จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรมยุค 4.0 ทำให้อาชีพกว่า 60% มีเนื้องาน 1 ใน 3 เป็นงานที่สามารถทำแบบอัตโนมัติได้ การปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลต่อทักษะที่จำเป็นในอนาคตของนักเรียนอย่างยิ่ง โดยในปี พ.ศ. 2559 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum :WEF) มีรายงานที่กล่าวถึงทักษะที่จะเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ทักษะการเข้าสังคม และทักษะกระบวนการ ดังนั้นการศึกษายุค 4.0 จึงต้องปรับตัวตามยุคสมัย โดยเริ่มต้นที่ความเข้าใจถึงสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กจบใหม่ในอนาคต และนี่คือ 4 ตัวอย่างสิ่งใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการศึกษายุค 4.0
ผู้เรียนมีอิสระที่จะเรียนรู้ที่ไหน เวลาใดก็ได้ตามต้องการ ด้วยเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (interactive learning) ในปัจจุบันที่ทำให้การศึกษาสะดวกสบายและมีอิสระมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนที่ศึกษาภาคทฤษฎี สามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในชีวิตจริงผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติผ่านโครงการในห้องเรียน
ผู้เรียนจะได้รับการเรียนรู้เฉพาะบุคคลจากเครื่องมือและวิธีการที่ถูกดัดแปลงตามศักยภาพของตัวผู้เรียน ด้วยวิธีนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ประสบปัญหาในการทำความเข้าใจเนื้อหาสามารถเรียนรู้ตามขีดความสามารถของตัวเองได้ พร้อมเปิดรับวิธีการที่หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมาย
เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชนสู่ตลาดแรงงานอิสระในอนาคต ผู้เรียนจะมีโอกาสนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้จริงในโครงงานแทนการตอบข้อสอบอัตนัย การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานจะช่วยเสริมสร้างทักษะในการแก้ปัญหา การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ ความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม และการบริหารจัดการเวลา รวมถึงช่วยเพิ่มการพัฒนาตัวเองให้กับเด็ก ๆ สู่สายงานในอนาคต
ผู้เรียนในการศึกษายุค 4.0 จะได้มีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร เพื่อช่วยให้หลักสูตรมีความทันสมัยและตอบโจทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน อีกทั้งการวัดผลจะอิงจากการศึกษาภาพรวมแทนการสอบเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้การรับฟังและให้คำปรึกษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการศึกษาของตัวเองอย่างมีคุณภาพ
ค่ายนวัตกรรม เสริมทักษะสู่อนาคต
การศึกษาไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมหรือถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการขัดเกลาประชากร ผ่านการหล่อหลอมนิสัยการเรียนรู้ คุณธรรม ทักษะวิเคราะห์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จึงทำให้ค่ายและโครงการเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงมีบทบาทสำคัญ ค่ายมีจุดเด่นในการลดความวิตกกังวล ขยายเครือข่ายให้แก่โรงเรียนและคนรอบข้าง ไปจนถึงการยกระดับประสิทธิภาพ และเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย ค่ายนวัตกรรมของมูลนิธิคีนันฯ มุ่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชน
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่ายนวัตกรรมของมูลนิธิคีนันฯ ได้ที่ www.kenan-asia.org/innovation-camps