ถอด 4 บทเรียนสำหรับ SME ไทย จากงาน ‘ปลดล็อค SME ไทย ปรับตัวอย่างไรในยุค Next Normal’

เมื่อโควิด-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการต้องพลิกวิกฤตสู่โอกาสในการทำธุรกิจ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้ชื่อ ‘ปลดล็อค SME ไทย ปรับตัวอย่างไรในยุค Next Normal’ พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ อาทิ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), Facebook ประเทศไทย, บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด., บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai), บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) (LINE Thailand), บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (JD Central), เดอะ แมคคินซี่ โกลบอล อินสติติว (The McKinsey Global Institute), บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด (Organon), บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการสานต่อจุดมุ่งหมายของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียที่จะเสริมพลังและส่งต่อความรู้พร้อมทักษะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ในโลกยุค Next Normal

ถอด 4 บทเรียนสำหรับ SME ไทย จากงาน ‘ปลดล็อค SME ไทย

พลิกองค์กรด้วยวิถีดิจิทัล

โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เส้นแบ่งระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์จึงไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน เห็นได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และองค์กรมีความกล้าที่จะท้าทายการทำงานรูปแบบเดิม การที่จะพาธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตและเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ‘ความเข้าใจในแพลตฟอร์มออนไลน์’ ถือเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่จะสามารถงัดความประโยชน์ของเครื่องดิจิทัลออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากความเข้าใจในเครื่องมือแล้ว และอีกหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ได้อย่างยั่งยืน คือ ‘คน’ องค์กรควรเริ่มพัฒนาบุคลากรของตัวเองก่อน ไม่ใช่เริ่มที่เทคโนโลยี สร้างคนของเราให้มีทักษะและทัศนคติที่ก้าวหน้า พร้อมปรับตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่วิถีดิจิทัลเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจจุดแข็งของตัวเองและสามารถดึงประโยชน์สูงสุดของดิจิทัลออกมา เพื่อที่จะสามารถสื่อสารได้ตรงจุดและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้

ความยั่งยืนและโอกาสทางธุรกิจ

โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งเริ่มหันมาใช้แนวคิดการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ซึ่งคำนึงถึงสมดุลในด้าน ESG หรือก็คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เพื่อสร้างมาตรฐานชีวิตที่เท่าเทียมและยั่งยืนให้กับสังคมโลก การสละเวลาและลงทุนในการปรับนโยบายแบบยั่งยืนนอกจากจะสามารถเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทได้แล้ว ยังช่วยปูทางสู่การทำธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย เพราะรัฐบาลหลายประเทศเริ่มเพิ่มข้อกฎหมายควบคุมด้านสิ่งแวลล้อมในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ดังนั้น การเริ่มต้นในวันนี้จึงถือเป็นการวางรากฐานสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจในวันพรุ่งนี้

เทรนด์งานแห่งโลกอนาคต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พลิกโฉมโลกการทำงานในชั่วข้ามคืน ทั้งการทำงานจากบ้าน ความต้องการแรงงานที่แปรผันไปตามการทำงานวิถีใหม่ หรือแม้กระทั่งการเพิ่มจำนวนของแรงงานอิสระ (Gig worker) ทำให้แผนกบุคคลของหลายบริษัทต้องปรับวิธีดูแลพนักงานเก่า พร้อมกับคิดวิธีหาพนักงานใหม่ การสร้างและเสริมทักษะที่ยั่งยืนให้กับพนักงานถือเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะเราสามารถพัฒนาองค์กรให้ทันยุคสมัยผ่านปัจเจกบุคคล และพนักงานเองก็สามารถใช้ทักษะเหล่านั้นเป็นใบเบิกทางสู่สายงานในอนาคต รวมถึงเป็นจูงใจพนักงานรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Millennials ที่ชื่นชอบวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต หากองค์กรสร้างวัฒนธรรมนี้ได้สำเร็จ ธุรกิจก็สามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ไม่ยาก เพราะเครื่องมือที่ดีที่สุดขององค์กรคือ ‘คน’ ในองค์กรนั่นเอง

โลกปรับ ผู้บริโภคเปลี่ยน

ทั้งมาตราการเว้นระยะห่างหรือวิถีการทำงานจากบ้าน ทำให้ประชากรมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อก่อนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มักจะมีวัตถุประสงค์หรือแหล่งในการซื้อที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันพวกเขาใช้เวลาสำรวจและเลือกสรรสินค้าบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ผู้บริโภคออนไลน์เริ่มมองหาความสะดวกสบาย ความ
หลากหลาย และความรวดเร็วจากผู้ขายแทนความภักดีในตัวแบรนด์ (Brand Loyalty) หลายคนหันมาพูดคุยกับร้านค้าโดยตรงก่อนตัดสินใจซื้อ พวกเขาคาดหวังการบริการที่ลื่นไหลและฉับไว เพราะบนโลกออนไลน์ ถ้าคุณไม่ตอบกลับหรือตอบช้า ลูกค้าก็เลื่อนหน้าจอไปร้านอื่นได้ทันที ดังนั้น นอกจากการมัดใจลูกค้าให้ได้ ผู้ประกอบการก็ต้องไล่ตามกระแสโลกให้ทัน

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.kenan-asia.org/